พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในเกลือบริโภค !!

ความรู้

“เกลือ” เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสําคัญต่อชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบันมนุษย์จําเป็นต้องใช้เกลือทั้งด้านการบริโภคและอุปโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านการปรุงอาหาร การถนอมอาหาร หรือจะใช้เป็นยารักษาโรคก็ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าชีวิตมนุษย์ขาดเกลือไม่ได้

ไมโครพลาสติก (Microplastic) หมายถึง พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งอาจเป็นพลาสติกที่ถูกผลิตมาให้มีขนาดเล็กอยู่แล้ว หรืออาจเป็นพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะถุงพลาสติก และเสื้อผ้าจากเส้นใยสังเคราะห์ จนกลายเป็นชิ้นส่วน (Fragment) เส้นใย (Fiber) หรือแผ่นฟิล์ม (Film) ที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร

ปัจจุบันมีขยะพลาสติกมากมายล่องลอยอยู่ในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก อีกทั้งยังคงมีขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งเพิ่มเติมลงสู่มหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นปริมาณมากถึงปีละ 4.8–12.7 ล้านตัน (Haward, 2018) โดยหากลองคำนวณดูจะพบว่า ขยะพลาสติกขนาด 10 เซนติเมตรนั้น เมื่อสลายตัวแล้วอาจก่อให้เกิดไมโครพลาสติกขนาด 100 ไมโครเมตร (µm) ได้ถึง 1 ล้านชิ้นเลยทีเดียว

การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร ซึ่งเป็นเกลือที่ได้มาจากการนำน้ำทะเลมาตากแดด ให้น้ำทะเลระเหยออกไปจนเหลือเพียงผลึกเกลือสีขาวนั้น หากน้ำทะเลที่ถูกผันเข้ามาผลิตเกลือสมุทรนั้นมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าเกลือสมุทรที่ผลิตได้ ก็ย่อมมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในเกลือด้วยเช่นกัน

ในงานวิจัยของ A. Vidyasakar และคณะ ได้ทำการวิจัยหาไมโครพลาสติกในเกลือบริโภคในรัฐที่ผลิตเกลือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย ซึ่งได้สุ่มตัวอย่างทั้งเกลือผงและเกลือเม็ดของรัฐทมิฬนาฑูและคุชราต มาทำการวิเคราะห์หาปริมาณไมโครพลาสติก ซึ่งพบปริมาณไมโครพลาสติกอยู่ระหว่าง 46-115 อนุภาค ต่อเกลือ 200 กรัมในรัฐคุชราต และพบปริมาณไมโครพลาสติก 23-101 อนุภาค ต่อเกลือ 200 กรัม ในรัฐทมิฬนาฑู และไมโครพลาสติกที่พบได้บ่อยที่สุดได้แก่ โพลิเอทิลีน โพลีเอสเตอร์ และโพลีไวนิลคลอไรด์ซึ่งได้มาจากหน่วยการผลิตเกลือในทะเล

สำหรับในประเทศไทยนั้น ศีลาวุธ ดำรงศิริ และเพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์ (2562) ได้ทำการสำรวจปริมาณไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร ที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างเกลือขาว เกลือดำ ดอกเกลือและเกลือแบบนาผ้าใบ แล้วจึงนำมาตรวจวัดปริมาณไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรต่าง ๆ พบว่าเกลือชนิดต่าง ๆ นั้น มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก โดยตรวจพบช่วงค่าของปริมาณไมโครพลาสติกที่ 34–2,377 ชิ้นต่อเกลือสมุทร 1 กิโลกรัม และมีค่าเฉลี่ย และค่ามัธยฐานของปริมาณไมโครพลาสติกที่ตรวจพบในเกลือสมุทรที่ 378 และ 177 ชิ้นต่อเกลือสมุทร 1 กิโลกรัม ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกต่อปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกาย เพื่อใช้สำหรับการรักษาสมดุลของเหลวในร่างกายมนุษย์ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันแล้ว พบว่าเทียบเท่าได้กับการบริโภคเกลือประมาณ 5 กรัม/วัน (Danopoulos และคณะ, 2020; Lee และคณะ, 2021) อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกพบว่า ประชากรโดยทั่วไปนั้นบริโภคเกลือประมาณ 9-12 กรัม/วัน ซึ่งมีค่าสูงกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 2 เท่าเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้หากผลิตภัณฑ์เกลือที่ประชากรบริโภคนั้นมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ก็อาจทำให้ประชากรได้รับอนุภาคไมโครพลาสติกดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้

เมื่อประมวลผลการสำรวจปริมาณไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร ที่ตรวจพบโดยศีลาวุธ ดำรงศิริ และเพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์ (2562) ร่วมกับปริมาณเกลือที่ประชากรโดยทั่วไปบริโภคที่ 9-12 กรัม/วัน แล้วพบว่า ประชากรไทยนั้นมีโอกาสได้รับเอาไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคเกลือสมุทรที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติก เฉลี่ยประมาณ 1,242–1,656 ชิ้น/ปี และถ้าหากเกลือที่บริโภคนั้นมีการปนเปื้อนในปริมาณมาก ก็อาจมีโอกาสได้รับเอาไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายสูงสุดถึง 10,411 ชิ้น/ปี ซึ่งมีค่าสูงกว่าปริมาณการได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคเกลือสมุทรตามรายงานของ Danopoulos และคณะ (2020) ถึง 1.7 เท่าเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ เราทุกคนต้องหันกลับมาสนใจในปัญหาการจัดการกับขยะพลาสติกที่ทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง และเกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราเองในที่สุด

อ้างอิง :

1. โครงการศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร. สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

2. Danopoulos E, Jenner L, Twiddy M, & Rotchell JM (2020) Microplastic contamination of salt intended for human consumption: A systematic review and meta-analysis. SN Applied Sciences 2 1950.

3. รูปภาพจาก: https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/21504