About Us

ประวัติภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แต่เดิมเคยเป็นภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. คลุ้ม วัชโรบล ดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าแผนกในขณะนั้น จนกระทั่งมีประกาศข้อบังคับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการจัดเพิ่มแผนกวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปขึ้นภายใต้คณะวิทยาศาสตร์ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2509 จึงถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาววิทยาศาสตร์ เพราะเป็นวันกำเนิดภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณาจารย์ในยุคแรกล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาวิชา อันมีรายนามดังต่อไปนี้

  1. ศาสตราจารย์ ดร. คลุ้ม วัชโรบล
  2. ศาสตราจารย์ ดร. พิมล กลกิจ
  3. ศาสตราจารย์ วิรุฬห์ สุวรรณกิตติ
  4. ศาสตราจารย์ ทองสุข พงศทัต
  5. ศาสตราจารย์ ไชยศรี อาภรณ์รัตน์
  6. ศาสตราจารย์ เสนาะ ตันบุญยืน
  7. ศาสตราจารย์ จำเริญ เจตนเสน
  8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรางค์ โค้วตระกูล
  9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาพ ภู่ประเสริฐ
dr_klum_watcharobol
ศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล

ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปเป็นแหล่งให้ความรู้หลายสาขาผสมผสานกันไปเพื่อให้มีความสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการงานด้านวิชาการ ด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัย ประกอบกับความต้องการบุคลากรที่ขาดแคลนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปจึงได้มีการปรับปรุงหลักสูตรของภาควิชาฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งได้เปิดสอนใน 2 หลักสูตร คือ วิทยาศาสตร์ทั่วไปและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตฉบับปรับปรุง 2542 ) โดยกำหนดให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีความสัมพันธ์กันมากกว่า 1 สาขา

เมื่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมกระทบต่อทุกภาคส่วน นิสิตให้ความสนใจศึกษาในสาขาสิ่งแวดล้อม ประกอบกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีความต้องการบัณฑิตที่มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมีนโยบายให้เปลี่ยนชื่อจากภาควิทยาศาสตร์ทั่วไปเป็นภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นต้นมา  สำหรับห้องเรียนและห้องปฏิบัติการของภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนั้น ได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับนับจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ทั้งในส่วนที่เป็นงานวิจัยบริสุทธิ์ งานวิจัยประยุกต์ และงานวิจัยภาคสนาม โดยการบริหารงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนส่วนแรก คือ ส่วนสนับสนุนและส่วนที่สอง คือ ส่วนปฏิบัติการวิจัย

ส่วนสนับสนุนได้แก่ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และห้องปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนปฏิบัติการวิจัย ได้แก่ หน่วยวิจัยมลพิษอากาศและเสียง หน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมทางน้ำ หน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมทางดิน หน่วยวิจัยจุลชีวสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา หน่วยวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ

ในด้านทุนวิจัยและการสนับสนุนภาควิชาฯ ได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านทุนวิจัย ครุภัณฑ์วิจัย และทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากหลายแห่ง เช่น งบประมาณแผ่นดิน สำนักงานกองทุนวิจัย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุนวิจัยมอนบุโช เป็นต้น

นับแต่ปี พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2558)  ภาควิชาฯ มีผู้บริหารดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกฯ และหัวหน้าภาคฯ มาแล้วจำนวน 14 คน ได้แก่

  1. ศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล
พ.ศ. 2504-2510 รักษาการหัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ทั่วไปโดยพฤตินัย
  1. ศาสตราจารย์ ดร.ทองศุข พงศทัต
พ.ศ. 2510-2512 รักษาการหัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ทั่วไปโดยพฤตินัย
  1. ศาสตราจารย์ ดร.เจริญ ธรรมพานิช
พ.ศ. 2512-2514 หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ทั่วไปอย่างเป็นทางการ
  1. ศาสตราจารย์ ดร.สงัด รุทระกาญจน์
พ.ศ. 2514-2518 หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  1. รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมนูญ โรจนะบุรานนท์
พ.ศ. 2518-2522 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  1. รองศาสตราจารย์ ศักดา ศิริพันธุ์
พ.ศ. 2522-2526 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประธาน อารีพล
พ.ศ. 2526-2533 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  1. รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมนูญ โรจนะบุรานนท์
พ.ศ. 2533-2537 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  1. อาจารย์ สะอาด วิโรจน์รัตน์
พ.ศ. 2537-2541 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิ่น-ฉวี เวชชานุเคราะห์
พ.ศ. 2541-2545 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  1. รองศาสตราจารย์ ดร.วนิดา จีนศาสตร์
พ.ศ. 2545-2549 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพร บุญส่ง
พ.ศ. 2549-2553 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  1. อาจารย์ ดร.ศุภวิน วัชรมูล
พ.ศ. 2553-2557 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
  1. อาจารย์ ดร.สิทธิโชค พวงทองทับ
พ.ศ. 2557-2561 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
  1. ศาสตราจารย์ ดร.วนิดา จีนศาสตร์
พ.ศ. 2561-2563 หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
  1. รองศาสตราจารย์ ดร.ภศิชา ไชยแก้ว
พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

บุคลากรและเจ้าหน้าที่ของภาควิชาฯ จากรุ่นสู่รุ่นนั้น มีความแน่วแน่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบรรลุเป้าหมาย ดังเจตนารมณ์ที่ว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งความรู้และแหล่งอ้างอิงของแผ่นดิน เป็นผู้นำทางปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”