Youth Voice: เสียงของเยาวชนในเวทีระดับโลก

กิจกรรมระดับนานาชาติ

ถ้านึกถึงภาพงานการเมือง หลายคนอาจนึกถึงห้องประชุมที่มีผู้ใหญ่เต็มไปหมด หรือภาพรัฐสภาที่มี ส.ส. กำลังอภิปรายในสภาด้วยภาษาที่ยากจะเข้าใจ แล้วสถานที่ที่มีแต่ผู้ใหญ่อยู่เต็มไปหมดแบบนี้ ภาพงานการเมืองที่มีแต่ผู้ใหญ่แบบนี้ แล้วเยาวชนแบบเราจะอยู่ตรงไหนของสมการ? หรือถ้าได้เข้าไปจริง ๆ จะเปลี่ยนอะไรได้ ในเมื่อการเมืองก็เป็นแบบนี้มาตลอดหลายปี ทั้งเปลี่ยนไม่ได้ และไม่เคยเปลี่ยน

แต่ลองคิด ๆ ดูแล้วผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากภาวะโลกรวนที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดบ่อยขึ้นในทุก ๆ วันก็ไม่เลือกเกิดนี่นา ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ แต่พวกเราเยาวชนก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พายุเข้า ไฟป่า ฝุ่น PM2.5 และภัยพิบัติอื่น ๆ ไม่ได้ต่างไปจากผู้ใหญ่เลย ยกตัวอย่างเช่นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ที่ปัญหาฝุ่นควันหนักมาก ๆ ทำให้ต้องหยุดเรียนกันไปเป็นอาทิตย์ แล้วทำไมคนที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะจัดการยังไงกับภัยพิบัติ ไปจนถึงจะทำยังไงกับนโยบายสิ่งแวดล้อมอีก 20 ปีข้างหน้าถึงมีแต่ผู้ใหญ่ ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้ใหญ่เหล่านั้นอาจจะไม่อยู่บนโลกแล้วก็ได้ ในขณะที่เด็กอย่างเราต่างหาก ที่จะต้องรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหนา แล้วยังต้องทำตามนโยบายที่ไม่ได้เขียนเองอีก นี่แหละเลยเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเยาวชนอย่างเรา ๆ ถึงควรได้ที่นั่งเข้าไปฟังว่าผู้ใหญ่คุยอะไรกัน และควรมีสิทธิในการเขียนนโยบายซึ่งเป็นอนาคตของพวกเราเองด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้พาย (ผู้เขียน) ได้มีโอกาสไปงาน COP 29 ในฐานะตัวแทนเยาวชนประเทศไทย โดยการได้เป็นตัวแทนเยาวชนก็เกิดจากการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างหนักตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนได้เข้าไปอยู่ในองค์กรระดับโลกอย่าง Global Youth Biodiversity Networks และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัครคณะทำงานในกรรมาธิการที่ดิน และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทำให้ได้รู้จักกับองค์กรที่เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน คือ UNDP หรือ United Nations Development Programs ทำให้เราไม่ต้องจ่ายเงินไปประชุม COP29 ด้วยตัวเอง แต่ !! ถ้าใครสนใจเรื่องการเป็นตัวแทนเยาวชนประเทศไทยยังมีอีกหลายโครงการที่จะทำให้ความฝันของทุกคนเป็นจริง อย่างของกรมลดโลกร้อน หรือกรม Climate Change ก็จะมีการคัดเลือกนักเรียนในมหาวิทยาลัยเครือข่ายเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเช่นกัน และยังมีโครงการอื่น ๆ ที่จะเปลี่ยนไปแต่ละปีโดยสามารถติดตามได้ทางอินสตราแกรม thailandyouthclimatecouncil

โดยในปีนี้มีตัวแทนเยาวชนประเทศไทยรวมกันประมาณ 16 คน ที่ได้ไปเข้าร่วมประชุม แต่ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการส่งตัวแทนเยาวชนเข้าร่วม บางประเทศมีเยาวชนเยอะมาก ๆในขณะที่บางประเทศยังไม่มีเยาวชน เห็นได้ชัดเจนว่านานาประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำนโยบายมากขึ้น ทั้งมี Youth Pavillion ที่ให้เยาวชนได้มาแชร์ปัญหา และเปลี่ยนความยากในการทำงานสิ่งแวดล้อมแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้การที่เยาวชนมีพื้นที่ในการพูดที่ Pavillion ต่าง ๆ แล้วมีผู้ใหญ่มานั่งฟัง มาคุยด้วยหลังจบเสวนา และเกิดการต่อยอดเป็นโปรเจ็ค และนโยบายต่าง ๆ ที่เยาวชนได้มีส่วนร่วมก็นับว่าเป็นพัฒนาการที่ดี

เช่น ตัวพายเองก็ได้คุยเรื่องการศึกษาสิ่งแวดล้อมกับหลาย ๆ ภาคส่วนซึ่งก็หวังว่าถ้าทำให้การศึกษาสิ่งแวดล้อมกระจายไปในทุก ๆ ภูมิภาคได้ และเด็กก็มีความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ไม่ใช่แค่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในบ้านตัวเอง ก็คงทำให้การปรับใช้นโยบายสิ่งแวดล้อมในอนาคตง่ายขึ้นมาก และที่นั่งในการมีส่วนร่วมด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมก็จะเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเพื่อนเยาวชนที่นำเสนองานวิจัยของตัวเองเกี่ยวกับอิฐจากวัสดุเหลือใช้ในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ก็ได้ข่าวว่า กำลังคุยกับผู้ใหญ่ในต่างประเทศที่สนใจโปรเจคของเพื่อนอยู่ด้วย

กลับมาพูดถึงเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมกันดีกว่า จากการทำงานนโยบายสิ่งแวดล้อมตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา หากใครยังไม่ทราบในประเทศไทยมีองค์กรเยาวชนที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะมากยกตัวอย่างเช่นองค์กรที่เราทำอยู่อย่าง Green Youth Thailand, Global Youth Biodiversity Network นอกจากนี้ ก็ยังมี เครือข่ายในระดับท้องถิ่นอีกหลายเครือข่าย เช่น สายลมเชียงใหม่

พออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะรู้สึกว่า โห ในประเทศไทยมีองค์กรเยาวชน มีเยาวชนที่ทำงานกันจริงจังขนาดนี้เลยเหรอ ? ไม่รู้มาก่อนเลย แล้วถ้าอยากเริ่มต้น จะเริ่มยังไงดี ?

เราขอบอกเลยว่าความสำเร็จขององค์กรเยาวชนที่ได้มีเสียงในภาครัฐ แบบที่ตัวเรามักจะได้รับเชิญไปร่วมให้ความเห็นแผนแม่บท ร่วมแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และยังได้ไป COP 29 เริ่มต้นมาจากความคิดอยากแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ และองค์กรเยาวชนหลายองค์กรก็เริ่มมาจากสิ่งเล็ก ๆ อย่างการเขียนบทความสร้างความตระหนักรู้ หรือจัดกิจกรรมแยกขยะในโรงเรียน แต่พอเวลาผ่านไป ถึงพวกเราจะหมดไฟไปบ้างเพราะความเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นเกิดขึ้นช้าเหลือเกิน แต่การไม่ยอมแพ้ และการมีเพื่อนนี่แหละที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่สู่สังคมได้จริง ๆ

ปี 2024 เข้าร่วมประชุม COP29 ในฐานะตัวแทนเยาวชนประเทศไทย พูดเรื่องทิศทางการเคลื่อนไหวของเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศ

อย่างไรก็ตามต่อให้จะมีเครือข่ายเยาวชนหลายองค์กรแต่ก็แทบไม่เห็นเยาวชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับนโยบายสิ่งแวดล้อมได้จริง ๆ น้อยครั้งมากที่จะเจอเยาวชนวัยใกล้ ๆ กันเข้าไปทำงานในสภา มีส่วนร่วมในการร่างพ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพราะเวลามองภาพกิจกรรมเยาวชน ผู้ใหญ่ก็มักจะมองภาพการทำกิจกรรมวันเดียวจบ ให้ความรู้ ในระดับบุคคล เช่น เราจะแยกขยะยังไงดี หรืออาจมองเป็นการปลูกป่าชายเลน ปลูกต้นไม้เสียมากกว่า ซึ่งก็อาจะเป็นเพราะผู้ใหญ่มองว่านโยบายมันยากเกินกว่าที่เด็ก และเยาวชนจะเข้าใจ แต่จะดีกว่าไหมถ้านโยบายถูกทำให้ง่ายให้เป็นภาษาเดียวกับที่เราคุยกัน

สำหรับเรา ความพยายามให้เยาวชนมีส่วนร่วมในนโยบายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะอีกไม่กี่ปี เราก็ต้องเริ่มตัดสินใจนโยบายในฐานะผู้ใหญ่แล้ว ถ้าเรามีความเข้าใจและคุ้นเคยในนโยบาย มีความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม คงทำให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ถูกแก้ไขได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว

สุดท้ายในมุมมองของนักเรียนสิ่งแวดล้อมที่กลับมาจากการประชุมระดับโลกก็มองว่า เรื่องการมีส่วนร่วมในนโยบายสิ่งแวดล้อมของเด็กและเยาวชน เป็นปัญหาทั้งจากฝั่งเด็กและฝั่งผู้ใหญ่ โดยในฝั่งเด็กและเยาวชน ซึ่งพอจะมีเครือข่ายกันเองก็ไม่รู้ว่าเราจะเข้าหาผู้ใหญ่ได้ทางไหน นอกจากนี้ การขอทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานของรัฐบาลไทยยังจะต้องเป็นไปตามปีงบประมาณ ซึ่งเป็นไปได้ยากมากที่จะขอทุนเพื่อทำโปรเจคเพื่อท้องถิ่นของตัวเอง ส่วนในขณะที่ฟังผู้ใหญ่เองก็มีปัญหาหลายอย่างที่น่าสนใจ อย่างวันก่อน เราเพิ่งได้เข้าร่วมประชุมการให้ความเห็นการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 3 ที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพอฟังไปฟังมาพบว่าผู้ใหญ่หลายคนจากหลายกระทรวง และกรมมีความสนใจในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตัวเอง แต่ยังไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเยาวชนเท่าที่ควร หรือต่อให้คำนึงถึงแล้วแต่ก็ไม่รู้ว่า จะไปหาเยาวชนที่ตรงกับความต้องการ และมีความสามารถ ในการให้ความเห็นมาจากที่ไหน

การมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายสิ่งแวดล้อมของเด็ก และเยาวชนจึงเป็นปัญหา ของทุกคนไม่ใช่ปัญหาของเด็กหรือปัญหาของผู้ใหญ่ แต่เป็นปัญหาที่พวกเราในทุกช่วงอายุควรมาหาทางออกร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออนาคตของประเทศไทยมากที่สุด

Youth deserve a seat at the table

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *