สวัสดีครับ วันนี้ขอเสนอ blog สั้นๆ เรื่องเกี่ยวกับโรค สุขภาพ กับยาฆ่าแมลง ซึ่งก็เป็นงานเขียนของนิสิตจากหลักสูตรพิษวิทยาอุตสาหกรรมและการประเมินความเสี่ยงของเราครับ (และก็เป็นความรู้ แนวทางการทำวิจัยของหลายๆท่านครับ) #chulatox
สวัสดีครับวันนี้ผมมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับอันตรายจากสารกำจัดศัตรูพืชมาเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่ต้องฉีดพ่นสารด้วยตัวเอง สารดังกล่าวก็จะเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียร ระคายเคืองผิวหนัง เป็นต้น และรู้ไม่ว่าสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆ มีอันตรายมากกว่าที่คิด ถ้ารับเข้าในปริมาณมากๆ อย่างต่อเนื่องก็อาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้
เกษตรกรทั่วโลกใช้สารเคมีต่างๆ เป็นเรื่องปกติมากกกก !! แต่ส่วนใหญ่ในประเทศที่กำลังพัฒนาเกษตรกรมักใช้สารต่างๆ ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเกินปริมาณที่กำหนด ไม่ใส่หน้ากาก/เสื้อแขนยาว/ถุงมือ/รองเท้ากันสารเคมี หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองแต่ไม่เหมาะสม ทำให้สารต่างๆ เข้าสู่ร่างการได้อย่างง่ายดายและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มอาชีพเกษตรกรในประเทศไทยยังถูกจัดว่าเป็นแรงงานนอกระบบ ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการในด้านความปลอดภัยและด้านสุขภาพ ไม่สามารถใช้สิทธิจากประกันสังคม และไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น ทำให้นักวิชาการทั่วโลกให้สนใจในศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชเชิงลึก ต่อเซลล์และอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตับและไต ที่ต้องทำงานหนักเพื่อกำจัดสารเคมีดังกล่าวออกจากร่างกาย
ในปี 2563 มีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจได้ประเมินผลกระทบจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชต่อการทำงานของตับและไตในเกษตรกร ที่สาธารณรัฐแคเมอรูน โดยการเปรียบเทียบเกษตรกร 58 คน กับประชาชนทั่วไป 32 คน เฉพาะเพศชาย อายุ 20-60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา และยากำจัดวัชพืช ตามลำดับ มีรายงานอาการทางสุขภาพ ได้แก่ ผื่นที่ผิวหนัง ระคายเคืองตา และผิวหน้าไหม้ และยังชี้ให้เห็นว่าการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มยาฆ่าแมลง (สูตร Mocap และ parastar) และกลุ่มยาฆ่าเชื้อรา (สูตร Callomil plus, metalaxyl, และ copper oxide) ส่งผลทำให้ตับมีการทำงานที่เปลี่ยนไป (เพิ่มกิจกรรม Alanine aminotransferase ในเลือด) ของกลุ่มเกษตรกรเมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ไม่พบความแตกต่างในการทำงานของไตระหว่างสองกลุ่ม แต่ยังมีหลายการศึกษาได้ระบุว่าสารกำจัดศัตรูพืชมีผลทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง และสามารถพัฒนาไปสู่การเกิดโรคไตชนิดเรื้อรังได้ (1)
ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสารกำจัดศัตรูพืชทำให้เกิดโรคตับและโรคไต แต่ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญทางสุขภาพของเกษตกรมากขึ้น และทำให้เกษตรกรเกิดความตระหนักต่อการป้องกันตัวเอง เช่น #การใช้สารตามฉลากกำหนด#การใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองที่ถูกต้อง#การฉีดพ่นสารตามทิศทางลม#การล้างมือก่อนดื่มน้ำหรือกินอาหารหลังใช้สาร#อาบน้ำทันทีหลังใช้สาร#การทิ้งภาชนะสารโดยการฝังกลบในพื้นที่ห่างชุมชน#การตรวจคัดกรองตามความเสี่ยง และการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพของเกษตรกรอีกด้วย
ที่มา:
(1) Manfo FPT, Mboe SA, Nantia EA, Ngoula F, Telefo PB, Moundipa PF, Cho-Ngwa F. 2020. Evaluation of the effects of agro pesticides use on liver and kidney function in farmers from Buea, Cameroon. J Toxicol. 2020(10): 1–10. doi:10.1155/2020/2305764
(รูปภาพ) https://www.dw.com/en/pesticide-atlas-2022/a-60390427