สวัสดีค่าทุกคนหลังจากอ่านเรื่องประสบการณ์การเรียนปีหนึ่ง และประสบการณ์การสัมภาษณ์เข้าจุฬาฯ จากนักรบ เฟรชชี่ CU108 หรือ ENVI#17 กันมาแล้ว พายในฐานะ CU106 หรือ ENVI#15 ที่พอจะมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในจุฬาฯ มาบ้าง จะมาเล่ากิจกรรม Highlight ของชีวิตการเรียนจุฬาฯ ตลอดสามปีของเราให้ฟังกันค่ะ
ทุกคนเคยได้ยินการประชุม COP 29 หรือ The 2024 United Nations Climate Change Conference or Conference of the Parties of the UNFCCC หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กันมาบ้างไหมคะ พายเชื่อว่าหากผู้อ่านคุ้นเคยกับข่าวสิ่งแวดล้อมมาบ้างก็น่าจะพอคุ้น ๆ ชื่อการประชุมนี้ แต่ถ้าใครไม่เคยได้ยินมาก่อนให้ลองนึกถึงภาพการประชุมสุดยอดผู้นำโลกด้านสิ่งแวดล้อม พวกสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เราได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ อย่าง Paris agreement หรือ ข้อตกลงปารีส เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับนี้ถูกลงนามโดยผู้นำแต่ละประเทศในปี 2015 ในการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายหลักในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ข้อตกลงนี้มุ่งหวังที่จะจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และเน้นที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกประเทศ โดยให้ประเทศที่ลงนามมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซของตนเอง (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) และต้องทบทวนและปรับเป้าหมายทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นข้อตกลงระดับนานาชาติที่ว่าด้วย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่พูดติดปากกันบ่อย ๆ ว่า “ลดคาร์บอน” และการพยายามไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็ถูกร่างขึ้นที่งานประชุมแห่งนี้เช่นเดียวกัน ทำให้ความเจ๋งของการไป COP ไม่ใช่แค่เนื้อหาสาระในการประชุม แต่คือผู้คนที่หลากหลายและน่าสนใจจากทั่วโลก เดิน ๆ อยู่อาจจะเจอรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมจากสิงคโปร์, เจ้าหญิงจากจอร์แดน หรือนักข่าวจากช่องดังที่เราเคยได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก


สำหรับพายในฐานะนักเรียนสิ่งแวดล้อม และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมฝึกหัด การได้เป็นตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมประชุม COP29 จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ถึงจะกลับมาจากอาเซอร์ไบจานหลายเดือนก็ยังมีเรื่องที่อยากเล่าเต็มไปหมด และข่าวเรื่อง COP29 ก็มีแต่เรื่องผลลัพธ์การเจรจา นโยบายใหม่ ที่สำนักข่าวก็สสรุปกันไปหมดแล้ว ดังนั้นบทความเรื่อง COP29 ในตอนแรกของพายก็จะมาเล่าเหตุการณ์ที่จำได้ไม่ลืมจาก COP29 ที่แปลกใหม่ และไม่ซ้ำใครให้ทุกคนอ่านกันค่ะ
ก่อนจะเริ่มเรื่องแรก สงสัยกันไหมว่าทำไม COP29 ต้องจัดที่อาร์เซอร์ไบจาน จริง ๆ แล้วเจ้าภาพการประชุม COP จะเปลี่ยนทวีปไปเรื่อย ๆ แล้วจะวนกลับมาทวีปเดิมในรอบ 5 ในปีที่ผ่านมา การจัดประชุมที่ประเทศนี้ถูกตั้งคำถามจากนักสิทธิมนุษยชนด้านสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก เพราะนอกจากสภาวะสงครามที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศอาร์เมเนียแล้ว ประเทศอาเซอร์ไบจานยังเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในทะเลแคสเปียน อีกทั้งยังไม่มีนโยบายการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เป็นรูปธรรมหากเทียบกับประเทศอื่นที่ยื่นขอกันเป็นเจ้าภาพ
เริ่มที่เรื่องแรก : เรื่องเล่าจากท้องทะเล ขอเกริ่นก่อนว่า ภาพ COP ในหัวของหลายคนอาจเป็นภาพงานประชุมที่เคร่งเครียด มีแต่การถกเถียงกันของผู้นำหลากหลายประเทศที่เจรจาหาข้อสรุปเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ซึ่งนั่นก็จริง ในห้องประชุมของผู้นำระดับสูงที่ในปีนี้ตกลงกันไม่ลงตัวหลายประเทศ เช่น การแบ่งงบประมาณในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากประเทศร่ำรวย สู้ประเทศยากจน เมื่อประเทศมหาอำนาจไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะแบ่งงบประมาณให้ประเทศกำลังพัฒนาเประเทศละเท่าไหร่ จนทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย walk out ออกจากห้องประชุมทั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเพราะภายในงาน (ซึ่งใหญ่มากกก) มีการแบ่งออกเป็นหลายโซน ส่วนที่พายอยู่เป็นส่วนใหญ่หากไม่ต้องไปสังเกตการณ์ประชุม เราก็จะอยู่ในโซน pavilion ซึ่งแต่ละประเทศ หรือแต่ละองค์กรก็จะมีบูธเป็นของตัวเอง อารมณ์เหมือนไปงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิตต์เลยค่ะ ซึ่งแต่ละช่วงเวลา แต่ละ pavilion ก็จะมีเสวนาที่แตกต่างกันออกไป เช่น การเสวนาเรื่องความสำคัญของการสำรวจมหาสมุทร, ความสำคัญของเยาวชนในการทำงานนโยบายสิ่งแวดล้อม


และสิ่งที่จะดึงดูดเราไปฟังเสวนาในแต่ละวันก็คือเข็มกลัดค่ะ การแลกเข็มกลัดในแต่ละวันเป็นกิจกรรมที่สนุกมาก ๆ แน่นอนว่าทุกคนก็จริงจังกันมาก ๆ กับการหาเข็มกลัดใหม่ในทุก ๆ วันค่ะ

อันนี้เป็นตัวอย่างเข็มกลัดที่เราแลกมาในช่วงวันแรก ๆ ค่ะ จะเห็นว่าบางประเทศ เช่น จีน มีตุ๊กตาหมีแพนด้า ใช้แทนเข็มกลัดด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนแย่งกันมาก ๆ
หนึ่งในประเทศที่เข็มกลัดน่ารัก และทุกคนแย่งกันคือสิงคโปร์ ซึ่งนอกจากจะออกแบบลายน่ารัก ยังมีกลยุทธ์อีกอย่างคือ พินจะเปลี่ยนไปทุกวัน มี 3 แบบให้สะสม ทำให้ต้องเทียวไปเทียวมาอยู่หลายวันเพื่อดสะสมให้ครบทุกแบบ โดยเรื่องที่จะมาเล่าในวันนี้เกิดขึ้นระหว่างการแลกเข็มกลัด ที่ pavilion ของประเทศสิงค์โปร์

หนึ่งในเข็มกลัดของสิงคโปร์ที่เราไปแลกมาค่ะ เป็นรูปตัวนาก น่ารักมากๆ
การเสวนาเริ่มต้นที่ เพื่อนชาวตูวาลูคนหนึ่ง แนะนำตัวเองแล้วถามทุกคนที่นั่งฟังอยู่ว่ามีใครรู้จักเกาะตูวาลูบ้าง แล้วเธอก็ลืมเล่าว่าประเทศของเธอเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีประชากรอยู่ไม่มาก แต่ก็มีธรรมชาติ มีทะเล มีภูเขาที่สวยงามไม่แพ้ประเทศอื่นเลย วันนี้เธอจึงอยากร้องเพลงที่ชาวตูวาลูร้องให้ลูกหลานฟัง และตัวเราเองก็ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก
ก่อนที่คุณเกรซ (ผู้เล่าเรื่อง) จะเริ่มต้นร้องเพลงและมีน้องชายของเธอเล่นเครื่องดนตรีท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่มีใครในนั้นฟังภาษาตูวาลูออก แต่ถึงจะฟังไม่ออก บทเพลงนี้ก็เป็นบทเพลงที่เพราะจับใจทีเดียว แต่เรื่องที่เธอเล่าหลังจากนั้นจับใจยิ่งกว่า… หลังจากร้องเพลงจบเธอก็เล่าว่า เพลงนี้เป็นเพลงที่บรรพบุรุษร้องต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น พูดถึงท้องทะเลที่สวยงาม ผืนน้ำสีฟ้าที่ทอดยาวไปไม่รู้จบ ภูเขาและธรรมชาติที่งดงาม ต้นไม้มากมาย เราบรรพบุรุษของเธอร่วมกันปกป้องธรรมชาติที่สวยงามนี้มายาวนาน พวกเขาจึงขอให้เด็ก ๆ ที่กำลังจะโตขึ้นปกป้องธรรมชาติที่สวยงามของหมู่เกาะที่พวกเขาโตมาต่อไป เมื่อพูดจบทุกคนที่นั่งฟังก็รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศตูวาลู และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกหลายแห่งกำลังจะจมหายไป จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อันเป็นผลมาจากภาวะโลกรวน ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของเธอเลยที่ไม่สามารถรักษาหมู่เกาะบ้านเกิดได้

ตำแหน่งของประเทศตูวาลูบนแผนที่โลก

ภาพขณะแสดงการร้องพลงพื้นเมือง
หลังจากจบการเสวนา ก็มีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ตัวแทนแต่ละประเทศได้มามาคุยกัน เราได้อยู่กลุ่มกับเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ ลิเบีย อเมริกา ตูวาลู และอีกหลายประเทศที่ร่วมแบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ที่พูดถึงการเริ่มต้นเข้ามาทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะคลื่นพายุซัดฝั่งพัดเพื่อนสนิทของเค้าหายไป จนตอนนี้ก็ยังหาไม่เจอ เป็นอีกครั้งที่ทำให้พายรู้สึกว่า Climate Change กำลังเกิดขึ้นจริง
บทสนทนา และเสวนาจบลง แต่มีหลายอย่างที่ตกตะกอนได้หนึ่งในนั้นคือความรู้สึกว่าต่อให้หมู่เกาะหายไปอีกสิบเกาะ ประเทศมหาอำนาจที่ปล่อยมลพิษก็ยังคงปล่อยอยู่แบบนั้น คงต้องมีคนอีกมากที่ทุกข์ทรมานจากภัยพิบัติที่เกิดบ่อย และรุนแรงมากขึ้น แต่อย่างน้อยเรื่องเล่าของคุณเกรซ และเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ก็ทำให้ผู้นำประเทศหลายคนที่นั่งอยู่ตรงนั้น และพาย ซึ่งเป็นเยาวชนตัวเล็ก ๆ ได้ตระหนักจริง ๆ ว่า Climate Change is real ถ้าเราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อโลก ความหายนะที่เกิดขึ้นมันอาจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยความหายนะจะเกิดขึ้นแน่นอน…
ยังมีเรื่องเล่าสุด exclusive อีกมากที่ทุกคนไม่สามารถหาอ่านได้ที่ไหน สามารถติดตามได้ในบทความ #รีวิวCOP29 ฉบับนักเรียนสิ่งแวดล้อม ตอนต่อไป
เรื่องราว โดยพาย
นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผู้มีความสนใจ ในภูมิศาสตร์ และประเด็นทางสังคม มีเป้าหมายอยาก สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมจากการทำนโยบายสิ่งแวดล้อมล้อมที่เข้าถึงทุกคน และทำให้เยาวชนมีสิทธิออกแบบนโยบายสิ่งแวดล้อมในโลกที่พวกเขาต้องอยู่ต่อไป
It is actually a nice and helpful piece of
info. I’m satisfied that you simply shared this
helpful information with us. Please keep us up to date like this.
Thanks for sharing.
Have you ever heard of the COP29 or the United Nations Climate Change Conference before reading this? What do you think about its global significance? Greeting : Ekonomi dan bisnis