รีวิวการไป COP 29 ฉบับนักเรียนสิ่งแวดล้อม

Lifestyle กิจกรรมระดับนานาชาติ

สวัสดีค่าทุกคนหลังจากอ่านเรื่องประสบการณ์การเรียนปีหนึ่ง และประสบการณ์การสัมภาษณ์เข้าจุฬาฯ จากนักรบ เฟรชชี่ CU108 หรือ ENVI#17 กันมาแล้ว พายในฐานะ CU106 หรือ ENVI#15 ที่พอจะมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในจุฬาฯ มาบ้าง จะมาเล่ากิจกรรม Highlight ของชีวิตการเรียนจุฬาฯ ตลอดสามปีของเราให้ฟังกันค่ะ

ทุกคนเคยได้ยินการประชุม COP 29 หรือ The 2024 United Nations Climate Change Conference or Conference of the Parties of the UNFCCC หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  กันมาบ้างไหมคะ พายเชื่อว่าหากผู้อ่านคุ้นเคยกับข่าวสิ่งแวดล้อมมาบ้างก็น่าจะพอคุ้น ๆ ชื่อการประชุมนี้ แต่ถ้าใครไม่เคยได้ยินมาก่อนให้ลองนึกถึงภาพการประชุมสุดยอดผู้นำโลกด้านสิ่งแวดล้อม พวกสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เราได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ อย่าง Paris agreement หรือ ข้อตกลงปารีส เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับนี้ถูกลงนามโดยผู้นำแต่ละประเทศในปี 2015 ในการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายหลักในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ข้อตกลงนี้มุ่งหวังที่จะจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และเน้นที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกประเทศ โดยให้ประเทศที่ลงนามมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซของตนเอง (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) และต้องทบทวนและปรับเป้าหมายทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นข้อตกลงระดับนานาชาติที่ว่าด้วย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่พูดติดปากกันบ่อย ๆ ว่า “ลดคาร์บอน” และการพยายามไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็ถูกร่างขึ้นที่งานประชุมแห่งนี้เช่นเดียวกัน ทำให้ความเจ๋งของการไป COP ไม่ใช่แค่เนื้อหาสาระในการประชุม แต่คือผู้คนที่หลากหลายและน่าสนใจจากทั่วโลก เดิน ๆ อยู่อาจจะเจอรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมจากสิงคโปร์, เจ้าหญิงจากจอร์แดน หรือนักข่าวจากช่องดังที่เราเคยได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก

สำหรับพายในฐานะนักเรียนสิ่งแวดล้อม และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมฝึกหัด การได้เป็นตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมประชุม COP29 จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ถึงจะกลับมาจากอาเซอร์ไบจานหลายเดือนก็ยังมีเรื่องที่อยากเล่าเต็มไปหมด และข่าวเรื่อง COP29 ก็มีแต่เรื่องผลลัพธ์การเจรจา นโยบายใหม่ ที่สำนักข่าวก็สสรุปกันไปหมดแล้ว ดังนั้นบทความเรื่อง COP29 ในตอนแรกของพายก็จะมาเล่าเหตุการณ์ที่จำได้ไม่ลืมจาก COP29 ที่แปลกใหม่ และไม่ซ้ำใครให้ทุกคนอ่านกันค่ะ

ก่อนจะเริ่มเรื่องแรก สงสัยกันไหมว่าทำไม COP29 ต้องจัดที่อาร์เซอร์ไบจาน จริง ๆ แล้วเจ้าภาพการประชุม COP จะเปลี่ยนทวีปไปเรื่อย ๆ แล้วจะวนกลับมาทวีปเดิมในรอบ 5 ในปีที่ผ่านมา การจัดประชุมที่ประเทศนี้ถูกตั้งคำถามจากนักสิทธิมนุษยชนด้านสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก เพราะนอกจากสภาวะสงครามที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศอาร์เมเนียแล้ว ประเทศอาเซอร์ไบจานยังเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในทะเลแคสเปียน อีกทั้งยังไม่มีนโยบายการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เป็นรูปธรรมหากเทียบกับประเทศอื่นที่ยื่นขอกันเป็นเจ้าภาพ

เริ่มที่เรื่องแรก : เรื่องเล่าจากท้องทะเล ขอเกริ่นก่อนว่า ภาพ COP ในหัวของหลายคนอาจเป็นภาพงานประชุมที่เคร่งเครียด มีแต่การถกเถียงกันของผู้นำหลากหลายประเทศที่เจรจาหาข้อสรุปเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ซึ่งนั่นก็จริง ในห้องประชุมของผู้นำระดับสูงที่ในปีนี้ตกลงกันไม่ลงตัวหลายประเทศ เช่น การแบ่งงบประมาณในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากประเทศร่ำรวย สู้ประเทศยากจน เมื่อประเทศมหาอำนาจไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะแบ่งงบประมาณให้ประเทศกำลังพัฒนาเประเทศละเท่าไหร่ จนทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย walk out ออกจากห้องประชุมทั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเพราะภายในงาน (ซึ่งใหญ่มากกก) มีการแบ่งออกเป็นหลายโซน ส่วนที่พายอยู่เป็นส่วนใหญ่หากไม่ต้องไปสังเกตการณ์ประชุม เราก็จะอยู่ในโซน pavilion ซึ่งแต่ละประเทศ หรือแต่ละองค์กรก็จะมีบูธเป็นของตัวเอง อารมณ์เหมือนไปงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิตต์เลยค่ะ ซึ่งแต่ละช่วงเวลา แต่ละ pavilion ก็จะมีเสวนาที่แตกต่างกันออกไป  เช่น การเสวนาเรื่องความสำคัญของการสำรวจมหาสมุทร, ความสำคัญของเยาวชนในการทำงานนโยบายสิ่งแวดล้อม

และสิ่งที่จะดึงดูดเราไปฟังเสวนาในแต่ละวันก็คือเข็มกลัดค่ะ การแลกเข็มกลัดในแต่ละวันเป็นกิจกรรมที่สนุกมาก ๆ แน่นอนว่าทุกคนก็จริงจังกันมาก ๆ กับการหาเข็มกลัดใหม่ในทุก ๆ วันค่ะ

อันนี้เป็นตัวอย่างเข็มกลัดที่เราแลกมาในช่วงวันแรก ๆ ค่ะ จะเห็นว่าบางประเทศ เช่น จีน มีตุ๊กตาหมีแพนด้า ใช้แทนเข็มกลัดด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนแย่งกันมาก ๆ

หนึ่งในประเทศที่เข็มกลัดน่ารัก และทุกคนแย่งกันคือสิงคโปร์ ซึ่งนอกจากจะออกแบบลายน่ารัก ยังมีกลยุทธ์อีกอย่างคือ พินจะเปลี่ยนไปทุกวัน มี 3 แบบให้สะสม ทำให้ต้องเทียวไปเทียวมาอยู่หลายวันเพื่อดสะสมให้ครบทุกแบบ โดยเรื่องที่จะมาเล่าในวันนี้เกิดขึ้นระหว่างการแลกเข็มกลัด ที่ pavilion ของประเทศสิงค์โปร์

หนึ่งในเข็มกลัดของสิงคโปร์ที่เราไปแลกมาค่ะ เป็นรูปตัวนาก น่ารักมากๆ

การเสวนาเริ่มต้นที่ เพื่อนชาวตูวาลูคนหนึ่ง แนะนำตัวเองแล้วถามทุกคนที่นั่งฟังอยู่ว่ามีใครรู้จักเกาะตูวาลูบ้าง แล้วเธอก็ลืมเล่าว่าประเทศของเธอเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีประชากรอยู่ไม่มาก แต่ก็มีธรรมชาติ มีทะเล มีภูเขาที่สวยงามไม่แพ้ประเทศอื่นเลย วันนี้เธอจึงอยากร้องเพลงที่ชาวตูวาลูร้องให้ลูกหลานฟัง และตัวเราเองก็ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก 

ก่อนที่คุณเกรซ (ผู้เล่าเรื่อง) จะเริ่มต้นร้องเพลงและมีน้องชายของเธอเล่นเครื่องดนตรีท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่มีใครในนั้นฟังภาษาตูวาลูออก แต่ถึงจะฟังไม่ออก บทเพลงนี้ก็เป็นบทเพลงที่เพราะจับใจทีเดียว แต่เรื่องที่เธอเล่าหลังจากนั้นจับใจยิ่งกว่า… หลังจากร้องเพลงจบเธอก็เล่าว่า เพลงนี้เป็นเพลงที่บรรพบุรุษร้องต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น พูดถึงท้องทะเลที่สวยงาม ผืนน้ำสีฟ้าที่ทอดยาวไปไม่รู้จบ ภูเขาและธรรมชาติที่งดงาม ต้นไม้มากมาย เราบรรพบุรุษของเธอร่วมกันปกป้องธรรมชาติที่สวยงามนี้มายาวนาน พวกเขาจึงขอให้เด็ก ๆ ที่กำลังจะโตขึ้นปกป้องธรรมชาติที่สวยงามของหมู่เกาะที่พวกเขาโตมาต่อไป เมื่อพูดจบทุกคนที่นั่งฟังก็รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศตูวาลู และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกหลายแห่งกำลังจะจมหายไป จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อันเป็นผลมาจากภาวะโลกรวน ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของเธอเลยที่ไม่สามารถรักษาหมู่เกาะบ้านเกิดได้ 

ตำแหน่งของประเทศตูวาลูบนแผนที่โลก

ภาพขณะแสดงการร้องพลงพื้นเมือง

หลังจากจบการเสวนา ก็มีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ตัวแทนแต่ละประเทศได้มามาคุยกัน เราได้อยู่กลุ่มกับเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ ลิเบีย อเมริกา ตูวาลู และอีกหลายประเทศที่ร่วมแบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ที่พูดถึงการเริ่มต้นเข้ามาทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะคลื่นพายุซัดฝั่งพัดเพื่อนสนิทของเค้าหายไป จนตอนนี้ก็ยังหาไม่เจอ เป็นอีกครั้งที่ทำให้พายรู้สึกว่า Climate Change กำลังเกิดขึ้นจริง

บทสนทนา และเสวนาจบลง แต่มีหลายอย่างที่ตกตะกอนได้หนึ่งในนั้นคือความรู้สึกว่าต่อให้หมู่เกาะหายไปอีกสิบเกาะ ประเทศมหาอำนาจที่ปล่อยมลพิษก็ยังคงปล่อยอยู่แบบนั้น คงต้องมีคนอีกมากที่ทุกข์ทรมานจากภัยพิบัติที่เกิดบ่อย และรุนแรงมากขึ้น แต่อย่างน้อยเรื่องเล่าของคุณเกรซ และเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ก็ทำให้ผู้นำประเทศหลายคนที่นั่งอยู่ตรงนั้น และพาย ซึ่งเป็นเยาวชนตัวเล็ก ๆ ได้ตระหนักจริง ๆ ว่า Climate Change is real ถ้าเราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อโลก ความหายนะที่เกิดขึ้นมันอาจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยความหายนะจะเกิดขึ้นแน่นอน…

ยังมีเรื่องเล่าสุด exclusive อีกมากที่ทุกคนไม่สามารถหาอ่านได้ที่ไหน สามารถติดตามได้ในบทความ #รีวิวCOP29 ฉบับนักเรียนสิ่งแวดล้อม ตอนต่อไป

เรื่องราว โดยพาย

นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผู้มีความสนใจ ในภูมิศาสตร์ และประเด็นทางสังคม มีเป้าหมายอยาก สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมจากการทำนโยบายสิ่งแวดล้อมล้อมที่เข้าถึงทุกคน และทำให้เยาวชนมีสิทธิออกแบบนโยบายสิ่งแวดล้อมในโลกที่พวกเขาต้องอยู่ต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *